MERZARTSPACE

11.11.2552

นิทรรศการ น้ำ ฝน ปลาย เดือน : ชล เจนประภาพันธ์

31 กรกฏาคม 2552 - 15 กันยายน 2552


โดย น้ำฝน อุดมเลิศลักษณ์, จิตมณี จงวิทูกิจ,
ยอดฉัตร บุพศิริ และบุษราพร ทองชัย

ฟังจากชื่อนิทรรศการแล้วหลายคนคงอดคิดไม่ได้ว่านี่คือผลงานศิลปะน่ารัก ๆ ของศิลปินตามฤดูกาล แม้จะร้อนบ้าง ฝนบ้าง ในบาร์เล็ก ๆ แห่งนี้ หลายคนก็ตั้งตารอการเปิดตัวอีกครั้งของ “สรวลเสฯ” ซึ่งส่วนใหญ่จะคุ้นกับชื่อนี้อยู่แล้วในฐานะบาร์ที่เปิดบ้างปิดบ้าง (ซึ่งส่วนใหญ่จะปิด) ในรอบปีที่ผ่านมา

กลับมาครั้งนี้ “MERZ Art Space” ซึ่งเป็นโปรเจคส่วนตัวของผมจึงได้เข้ามาแฝงตัวในฐานะโครงการที่โหยหาพื้นที่ทางศิลปะสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ ๆ กับการเปิดตัวด้วยสี่ศิลปินสาวที่มาพร้อมกับชื่อนิทรรศการแสนโรแมนติค แต่อย่าพึ่งหลงเข้าใจผิด เพราะชื่อนิทรรศการนั้นเป็นเพียงชื่อของทั้งสี่ศิลปิน แม้จะจบจากคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากรเหมือนกัน แต่แนวทางการสร้างสรรค์ผลงานกลับมีความหลากหลาย ทว่าทัศนะคติที่นำเสนอผ่านผลงานศิลปะของทั้งสี่ ยังคงความเป็นผู้หญิงอยู่ครบถ้วน

ซึ่งจะว่าไปแล้วในวงการศิลปะร่วมสมัย บางครั้งเราพบว่าการไม่ให้อภิสิทธิ์กับศิลปินผู้หญิงเลยก็ดูจะลำเอียงเกินไป แต่การเว้นช่องว่างให้อภิสิทธ์กับศิลปินหญิงอาจเป็นดาบสองคมที่น่ากลัวมากกว่า เมื่อการวิพากษ์วิจารณ์ศิลปินหญิงในบางกรณีกลายเป็นข้อยกเว้นเมื่อถูกมองว่า เป็นผู้หญิงที่ทำงานศิลปะได้ “เหมาะสม” กับที่เป็น “ผู้หญิง”

ดังนั้น นิทรรศการนี้สิ่งเดียวที่ดูจะมีเอกภาพมากที่สุดคงจะเป็นชื่อนิทรรศการเสียมากกว่า ซึ่งออกจะหวานแหวว และอาจทำให้บางคนเผลอคิดไปว่าเป็นกลุ่มศิลปินหญิงที่ทำงานได้สมกับที่เป็น “ผู้หญิง” ทว่าเราอาจมองข้ามไป และไม่ได้มองหาถึงความเป็น “ผู้หญิง” ที่ทำงานศิลปะได้สมกับที่เป็น “ศิลปิน” ดังนั้น ทุก ๆ ครั้งเมื่อผมได้ชมงานของศิลปิน “ผู้หญิง” สิ่งแรกที่ผมจะมองหา คือความเป็น “ศิลปิน” และหลังจากนั้น “ความเป็นผู้หญิง” จึงมักจะปรากฎ และทำให้ผมรู้สึกแปลกใหม่ ทางด้านมุมมอง ความคิด เสมอ

นิทรรศการนี้จึงอยากจะเปิดให้ผู้ชมได้เห็นนานาทัศนะของ “ผู้หญิง” ที่มีมุมมองต่อความเป็นเพศ สังคม ความรัก ฯลฯ โดยในเนื้อหาเดียวกันนี้ ศิลปินชายส่วนใหญ่ก็มักจะพูดถึง และจริงจังทั้งด้านเนื้อหา การนำเสนออยู่แล้ว แต่บางครั้งความ “จริงจัง” ในแบบผู้หญิงอาจจะถูกมองข้าม เพียงเพราะเป็นการแสดงออกโดยขาด “น้ำเสียงที่รุนแรง” หากเรามองข้ามนิยามเกี่ยวกับความรุนแรงแบบเดิม และลองสัมผัส “ความรุนแรง” ในแบบผู้หญิง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่เป็นไปอย่างโผงผาง จนถึงขั้นที่ต้องมีสิ่งใดล้มตาย แต่มักจะ “บาด” จนอาจทำให้ “เจ็บ” อยู่ในความรู้สึกเสมอ

“น้ำฝนปลายเดือน” จึงเป็นนิทรรศการแรก ตามเจตนารมณ์ของ “Merz” (ที่ไปพ้องเสียงกับ merge ) ก็อยากให้เป็นการนำมารวมกัน แม้จะเป็นสิ่งที่ต่าง หรือขัดแย้งกันเพียงไร “จุดร่วม” ก็ยังเป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยากท่ามกลางความต่าง นัยยะหนึ่ง การทำลาย ถอดรูปความหมาย และสร้างขึ้นใหม่ในแบบฉบับของ “Merz” เป็นแนวคิดที่อยากให้พื้นที่การนำเสนอศิลปะในในพื้นที่เฉพาะ สามารถเกิดความยืดหยุ่นได้ในบางประการ เช่นเดียวกับที่นี่ ที่สามารถเป็นได้ทั้งที่พักผ่อนสังสรรค์ ที่ฟังเพลง ที่ประชุม ที่ชมงานศิลปะ ที่จัดเสวนาขนาดย่อม และที่ที่จุดประกายสร้างสรรค์ให้กับศิลปินรุ่นใหม่ ๆ และผู้ที่สนใจศิลปะ ความผสมปนเปที่แม้จะผิดกฏ แต่ยังอยู่ในความเป็นไปได้ เพราะสุดท้าย “Merz” ก็เป็นเพียงชื่อเรียกพื้นที่ว่างหนึ่ง ซึ่งพร้อมที่จะหาย หรือเกิดใหม่ได้อยู่เสมอ

ชล เจนประภาพันธ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น